“ผ่าตัดกระเพาะอาหาร” ทางเลือกการลดน้ำหนัก รักษาโรคอ้วน

บทความสุขภาพ

การผ่าตัดกระเพาะอาหาร น้ำหนักลดลง สุขภาพดีขึ้น

Share:

การลดน้ำหนักด้วยการผ่าตัดกระเพาะอาหาร

โรคอ้วน เป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลเสียต่อร่างกายและมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกปี นอกจากจะทำให้สูญเสียความมั่นใจด้านรูปลักษณ์แล้ว ยังก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนอีกมากมาย เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคมะเร็งบางชนิด สำหรับผู้ที่เป็นโรคอ้วนและต้องการควบคุมน้ำหนักให้เป็นไปตามเกณฑ์ อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้ามีทางเลือกการลดน้ำหนักที่ดีและปลอดภัยอย่าง “การผ่าตัดกระเพาะอาหาร” (Bariatric Surgery) มาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาที่เห็นผล

“การผ่าตัดกระเพาะอาหาร” (Bariatric Surgery) คืออะไร ?

การผ่าตัดกระเพาะอาหาร เป็นการผ่าตัดที่ช่วยลดขนาดของกระเพาะอาหารและตัดศูนย์หิวออก เพื่อลดปริมาณอาหารที่สามารถรับประทานได้ ซึ่งจะช่วยให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้นและลดน้ำหนักได้ง่ายขึ้น วิธีนี้ใช้ในการรักษาโรคอ้วนในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถลดน้ำหนักได้ด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย และวิธีนี้จะนำไปสู่การลดน้ำหนักอย่างมีประสิทธิภาพ

การผ่าตัดกระเพาะอาหารไม่ใช่ทางลัดในการลดน้ำหนัก แต่เป็นวิธีการรักษาที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายควบคู่กันไปด้วย

ประโยชน์จากการผ่าตัดกระเพาะอาหารรักษาโรคอ้วน

  • ลดโรคแทรกซ้อนจากโรคอ้วน : เมื่อผู้ป่วยลดน้ำหนักได้สำเร็จ ความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ จะลดลงไปด้วย
  • เพิ่มคุณภาพชีวิต : ผู้ป่วยที่ลดน้ำหนักได้จะมีพลังงานเพิ่มขึ้น เคลื่อนไหวสะดวกขึ้น และมีความมั่นใจในรูปลักษณ์มากขึ้น
  • ลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต : การผ่าตัดกระเพาะสามารถลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนได้ในระยะยาว

การผ่าตัดกระเพาะอาหาร วิธีการลดน้ำหนัก

วิธีการผ่าตัดกระเพาะอาหารลดน้ำหนัก

การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนักโดยใช้เทคโนโลยีการส่องกล้อง (Laparoscopic Surgery) เป็นเทคนิคแผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว สามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งแพทย์จะเลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุดตามสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคน ในปัจจุบันมี 4 วิธี ดังนี้

1. การผ่าตัดกระเพาะอาหารส่วนใหญ่ออก (Sleeve Gastrectomy)

การผ่าตัดส่วนของกระเพาะอาหารออกไปราว 75-80% เพื่อลดขนาดของกระเพาะอาหารให้เหลือความจุประมาณ 150-200 cc ทำให้ความจุของกระเพาะอาหารมีขนาดเล็กลง ในขณะเดียวกันก็ทำให้ร่างกายลดการผลิตฮอร์โมนความหิว (Ghrelin) ตามไปด้วย ผลลัพธ์คือผู้ป่วยจะรู้สึกอิ่มเร็วขึ้นและกินน้อยลง ส่งผลให้น้ำหนักลดลงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่กระทบต่อการดูดซึมแคลอรีและสารอาหารในลำไส้ 

2. การผ่าตัดกระเพาะอาหารแบบบายพาส (Roux-en-Y Gastric Bypass: RYGB)

การผ่าตัดเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกระเพาะอาหาร ด้วยการเย็บกระเพาะส่วนบนให้เป็นถุงเล็ก ๆ และต่อลำไส้เล็กส่วนต้น เพื่อเปลี่ยนเส้นทางเดินอาหารใหม่ให้เป็นรูปทรง Y ให้อาหารไม่เดินทางผ่านกระเพาะอาหารส่วนใหญ่ และลำไส้เล็กส่วนต้น ส่งผลให้ระบบย่อยอาหารได้น้อยลง ลดการดูดซึมแคลอรีในร่างกาย รวมทั้งลดการกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนควบคุมความอยากอาหารทำให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น

3. การผ่าตัดกระเพาะอาหารแบบ Sleeve plus

การผ่าตัดกระเพาะและตัดต่อลำไส้ประมาณ 300 ซม. เพื่อให้อาหารที่รับประทานเข้าไปถูกดูดซึมได้ลดลง ช่วยให้อิ่มง่าย ลดน้ำหนักได้มากกว่า Sleeve ธรรมดา

4. การผ่าตัดกระเพาะแบบ OAGB (One Anastomosis Gastric Bypass)

เป็นการตัดกระเพาะอาหารให้เล็กลงเหลือประมาณ 15 – 20 % แล้วนำลำไส้เล็กส่วนที่เรียกว่า jejunum ขึ้นมาต่อโดยตรงกับกระเพาะอาหาร โดยไม่ต้องนำกระเพาะอาหารเดิมออก แผลเล็ก ลดน้ำหนักได้เร็วมากกว่าเทคนิคอื่น และลดโรคร่วมเบาหวานได้ดีกว่าเทคนิคอื่น

ใครสามารถทำการผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนักได้บ้าง ?

การผ่าตัดกระเพาะอาหารไม่ใช่ทางเลือกสำหรับทุกคนที่ต้องการลดน้ำหนัก ก่อนทำการรักษาแพทย์จะตรวจร่างกาย พร้อมคัดกรองคนไข้ที่เหมาะสม โดยมีเกณฑ์ดังนี้

  • ผู้ที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) 30 และคุมเบาหวานได้ไม่ดี
  • ผู้ที่มีดัชนีมวลกาย (BMI)  32.5 และมีโรคร่วม เช่น เบาหวานชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูง หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • ผู้ที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) 37.5 
  • ผู้ที่มีความพร้อมทางร่างกายและจิตใจ ผู้ป่วยต้องมีสุขภาพแข็งแรงพอที่จะรับการผ่าตัด และมีความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการดำเนินชีวิตหลังผ่าตัด
  • ผู้ที่เข้าใจถึงความเสี่ยงและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ผู้ป่วยต้องได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนและยินยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัด

การคำนวณค่า BMI

วิธีคำนวณ BMI ในการหาค่าดัชนีมวลกาย = น้ำหนักตัว [กิโลกรัม] ÷ ส่วนสูง [เมตร] ยกกำลังสอง

ตัวอย่าง : ถ้ามีน้ำหนัก 50 กิโลกรัม ส่วนสูง 160 เซนติเมตร จะมีค่า BMI = 50 ÷ (1.60 * 1.60) = 19.5

ผู้ที่กำลังพิจารณาการผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนัก สิ่งสำคัญคือต้องปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อประเมินและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละบุคคล การผ่าตัดกระเพาะไม่ใช่ทางลัดในการลดน้ำหนัก แต่เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นทางการแพทย์และมีความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างจริงจัง


สำหรับผู้ที่สนใจลดน้ำหนัก รักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดกระเพาะอาหาร สามารถเข้ามาปรึกษาได้ที่ โรงพยาบาลเวชธานี เราพร้อมให้คำแนะนำ ตรวจวินิจฉัย และรักษาดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการลดน้ำหนักเฉพาะบุคคล พร้อมเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับวิธีลดความอ้วนอย่างเหมาะสมและปลอดภัย

กรุณาติดต่อได้ที่ ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ ชั้น 2 โรงพยาบาลเวชธานี โทร 02-734-0000 ต่อ 2960

หรือสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.vejthani.com/th/medical-service/center-clinics/ระบบทางเดินอาหารและตับ/