6 คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการปลูกถ่ายไตของผู้ป่วยไตเรื้อรัง

บทความสุขภาพ

6 คำถามเกี่ยวกับ “การปลูกถ่ายไต” ที่ผู้ป่วยไตเรื้องรังควรรู้

Share:

“การปลูกถ่ายไต” เป็นทางเลือกการรักษาที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยในภาวะโรคไตเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม วิธีการปลูกถ่ายไตที่นับได้ว่ามีประสิทธิภาพ ก็ยังคงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาหลายด้าน ทั้งประเภทของการปลูกถ่ายไต ระยะเวลาการใช้งานไตหลังปลูกถ่าย เวลาพักฟื้น การดูแลหลังผ่าตัด ตลอดจนการประมาณค่าใช้จ่ายในการปลูกถ่าย ซึ่งการทำความเข้าใจกับ 6 คำถามที่พบบ่อยเหล่านี้ จะช่วยให้ญาติและผู้ป่วยมีความเข้าใจที่ครอบคลุม จนนำไปสู่การตัดสินใจวางแผน พร้อมเลือกแนวทางการรักษาได้อย่างเหมาะสม

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการปลูกถ่ายไตสำหรับผู้ป่วยไตเรื้อรัง

1. การปลูกถ่ายไตแบบ Living กับ Deceased คืออะไร และแตกต่างกันอย่างไร ?

การปลูกถ่ายไตสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักตามแหล่งที่มาของไต ได้แก่ การปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต (Living-Related Kidney Transplant) และการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย (Deceased Donor Kidney Transplant)

1.1 การปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต (Living-Related Kidney Transplant)

แนวทางการปลูกถ่ายโดยรับบริจาคไตจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิต ตามหลักข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม เรื่องการปลูกถ่ายอวัยวะและเซลล์ต้นกำเนิดพ.ศ.2566 ภายใต้เงื่อนไขว่าผู้บริจาคจะต้องมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับผู้รับ อาทิ พ่อแม่ พี่น้อง ลูก หลาน ลุง ป้า น้า อา รวมไปถึงคู่สมรสที่จดทะเบียนหรืออยู่ด้วยกันมาตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

1.2 การปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย (Deceased Donor Kidney Transplant)

เป็นแนวทางการปลูกถ่ายโดยรับบริจาคไตจากผู้ที่มีภาวะสมองตาย ซึ่งจะทำการจัดสรรผ่านศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดหาผู้บริจาคอวัยวะ พร้อมจัดสรรไตอย่างเป็นธรรม เสมอภาค และถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยไม่มีการซื้อขายอวัยวะ วิธีนี้ช่วยให้ผู้ป่วยที่ไม่มีญาติพร้อมบริจาคไตสามารถเข้าถึงการรักษาได้ ข้อจำกัดคืออาจต้องรอคิวนานและมีความเสี่ยงในการปฏิเสธอวัยวะสูงกว่า

โดยสรุป ทั้งสองวิธีมีข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกัน นอกจากนี้การเลือกวิธีปลูกถ่ายไตยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ความพร้อมของผู้บริจาคที่มีชีวิต ความเร่งด่วนในการรักษา และสภาวะสุขภาพของผู้ป่วย แพทย์จะพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

2. เงื่อนไขของผู้บริจาคไตที่มีชีวิตตามกฎหมายเป็นอย่างไร ?

สำหรับไตที่บริจาคจากผู้ที่มีชีวิต เงื่อนไขตามกฎหมายไทยระบุว่า ผู้บริจาคไตจะต้องมีคุณสมบัติสำคัญ ดังนี้ 

  • เป็นญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดโดยตรง เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก ฯลฯ
  • เป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสและอยู่กินด้วยกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
  • กรณีที่เป็นคู่สมรสและมีบุตรด้วยกัน ไม่จำเป็นต้องรอจนครบ 3 ปี ก็สามารถบริจาคไตได้

โดยเงื่อนไขเหล่านี้มีไว้เพื่อป้องกันการซื้อขายอวัยวะและการบังคับบริจาค ทั้งนี้ ผู้บริจาคต้องผ่านการประเมินสุขภาพอย่างละเอียดและให้ความยินยอมโดยสมัครใจ จึงจะสามารถทำเอกสาร และเข้าสู่กระบวนการบริจาคไตเพื่อนำไปใช้ในการรักษาต่อได้

3. การรักษาโดยการปลูกถ่ายไตอยู่ได้นานแค่ไหน ?

โดยเฉลี่ย ไตที่ได้รับการปลูกถ่ายสามารถทำงานได้นาน 10-20 ปี อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาการทำงานของไตที่ปลูกถ่ายขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น

  • การปฏิบัติตัว เช่น การดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง การตรวจสุขภาพตามนัด และการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งหมดนี้จะช่วยยืดอายุการใช้งานของไตได้
  • กรณีเกิดภาวะแทรกซ้อน ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการปลูกถ่าย เช่น การปฏิเสธของร่างกาย การติดเชื้อ หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่ออายุการใช้งานของไต
  • อายุของผู้บริจาค ไตจากผู้บริจาคที่มีอายุน้อยมักจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าไตจากผู้บริจาคที่มีอายุมาก
  • ประเภทของผู้บริจาค ไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิตมักจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าไตจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตแล้ว

4. หลังการปลูกถ่ายไตพักฟื้นกี่วัน ?

ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการปลูกถ่ายไตสำหรับผู้ป่วยไตเรื้อรัง

ระยะเวลาการพักฟื้นหลังการปลูกถ่ายไตขึ้นอยู่กับวิธีการผ่าตัด และสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย โดยทั่วไปผู้ป่วยจะใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 1-2 เดือนก่อนที่จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้แพทย์สามารถติดตามอาการและปรับยากดภูมิคุ้มกันได้อย่างใกล้ชิด หลังจากนั้น ผู้ป่วยจะได้รับอนุญาตให้กลับบ้านแต่ยังคงต้องมาพบแพทย์เพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ

5. ผู้บริจาคไตจะได้รับผลข้างเคียงจากการบริจาคไตหรือไม่ ?

โดยทั่วไป ผู้บริจาคไตจะไม่ได้รับผลข้างเคียงระยะยาวที่รุนแรงจากการบริจาคไต เนื่องจากร่างกายสามารถปรับตัวและทำงานได้ตามปกติด้วยไตเพียงข้างเดียว อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดทุกชนิดย่อมมีความเสี่ยงบางประการ เช่น

  • การติดเชื้อ เป็นความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับการผ่าตัดทั่ว ๆ ไป 
  • การเสียเลือด แม้ว่าจะเสียในปริมาณที่ไม่มาก แต่ก็อาจทำให้ร่างกายเกิดอาการอ่อนเพลียได้
  • ความเจ็บปวด ในบริเวณแผลผ่าตัด อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวสามารถควบคุมและระงับได้ด้วยยาแก้ปวดตามแพทย์สั่ง
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น เลือดออกภายใน การอุดตันของเส้นเลือด หรือปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ

อย่างไรก็ตาม ทีมแพทย์จะทำการประเมินสุขภาพของผู้บริจาคอย่างละเอียดก่อนการผ่าตัด เพื่อให้มั่นใจว่าการบริจาคไตจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว

6. ความเสี่ยงหลังการปลูกถ่ายไตและการดูแลตนเอง

หลังการปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยจำเป็นต้องระมัดระวังเรื่องการติดเชื้อ เนื่องจากต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการปฏิเสธอวัยวะ โดยแนวทางการดูแลตัวเองในระยะนี้ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ดังนี้

  • รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ
  • มาพบแพทย์เพื่อติดตามอาการและตรวจเลือดให้ตรงตามนัด
  • รักษาสุขอนามัยที่ดีเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อหลังผ่าตัดปลูกถ่าย
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพื่อสุขภาพไตในระยะยาว

การปลูกถ่ายไตเป็นทางเลือกการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง แม้จะมีความท้าทายและข้อควรพิจารณาหลายประการ แต่ด้วยการดูแลที่เหมาะสมและการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด จะทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน


ปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาโรคไตเรื้อรัง พร้อมรับคำแนะนำในการปลูกถ่ายไตได้อย่างทันท่วงทีที่ ศูนย์ไตเทียม โรงพยาบาลเวชธานี โดยทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีความชำนาญในด้านต่าง ๆ (Multidisciplinary Team) เช่น ทีมอายุรแพทย์โรคไต, ศัลยแพทย์เปลี่ยนไต, อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านโลหิตวิทยา และการตรวจเนื้อเยื่อเพื่อการเปลี่ยนไต ตลอดจนทีมพยาบาลเฉพาะทางไตเทียม ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อให้ผู้ป่วยหายจากโรคไตเรื้อรังและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างอุ่นใจ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 

ศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลเวชธานี

โทร 02-734-0000